แสนเสนาะสามชั้น : ครูเจริญใจ สุนทร​วาทิน ขับร้อง ปี่พาทย์ไม้นวมกรมศิลปากร

แสนเสนาะสามชั้น : ครูเจริญใจ สุนทร​วาทิน ขับร้อง ปี่พาทย์ไม้นวมกรมศิลปากร
บันทึกเสียงเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘
- ประวัติเพลง แสนเสนาะสามชั้น -​
เพลงแสนเสนาะสามชั้น เพลงเดิมเป็นเพลงสองชั้นทำนองเก่า มีผู้นำมาแต่งเป็นทำนองร้องเฉพาะสามชั้นสำหรับใช้ร้องในการเล่นสักวา ต่อมาครูบัว (คนระนาด) แต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นทางดนตรีขึ้นทางหนึ่ง หลวงประดิษฐไพเราะแต่งขึ้นอีกทางหนึ่ง ต่อมาท่านยังได้แต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘.
- บทร้องเพลง แสนเสนาะสามชั้น -
สักวาแสนเสียดายที่หมายหมาด
เสียดายนุชสุดสวาทเพียงขาดจิต
เสียดายด้วยมิได้ชมให้สมคิด
เสียดายด้วยมิได้ชิดสนิทนาง
(สร้อย)​ หอมอะไรที่ไหนหนอ
อ้อที่กอระกานั่นเป็นไร
หอมระกำฉันยังจำกลิ่นได้
ชื่นใจจริงเจียวเอย.
เสียดายแต่น้ำเสียงสำเนียงน้อง
เสียดายลำที่ได้ร้องจะหมองหมาง
เสียดายด้วยไมตรีจะจืดจาง
เสียดายรักจักต้องร้างไปห่างเสียแล้วเอย
(สร้อย)​ หนาวลมก็ฉันจะห่มผ้า
ถ้าแม้นหนาวฟ้าฉันจะผิงไฟ
หนาวอารมณ์ไม่รู้จะห่มอะไร
หนาวจับใจจริงเจียวเอย.
- ประวัติ​ อาจารย์​เจริญใจ​ สุนทร​วาทิน​ -​
อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน เป็นบุตรีคนสุดท้องของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) กับคุณหญิงเสนาะดุริยางค์ (เรือน) เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๘ อาจารย์เจริญใจเริ่มเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนศึกษานารี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนราชินี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ สำหรับทางด้านดนตรี อาจารย์เจริญใจ ได้รับการถ่ายทอดการดนตรีมาตั้งแต่เด็กและด้วยเหตุนี้เองทำให้บิดาของท่าน คือ เจ้าคุณเสนาะดุริยางค์พิจารณาเห็นแล้วว่าท่านมีความสามารถทางดนตรีมาก จึงให้หยุดการเรียนในสายสามัญ มาทุ่มเทให้กับวิชาดนตรี
การเรียนดนตรีของอาจารย์เจริญใจจะเป็นการเรียนอย่างช้าๆ และซ้ำๆ เพื่อให้ซึมซับลงไปอย่างเต็มที่ โดยเจ้าคุณเสนาะดุริยางค์จะสอนอยู่ ๓ เวลา ใน ๑ วัน คือ ตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับมาจากโรงเรียน และตอนค่ำก่อนนอน ซึ่งการเรียนนี้เป็นทั้ง ๒ ทาง คือ ทางร้องและทางเครื่อง โดยทางเครื่องนั้นเจ้าคุณเสนาะดุริยางค์ ได้สอนการตีฆ้องและการตีระนาดเอกให้กับอาจารย์เจริญใจ แต่จริงแล้วเครื่องดนตรีที่อาจารย์เจริญใจได้เรียนตั้งแต่ยังเล็กอย่างแรก คือ ปี่ชวา ในปีพ.ศ.๒๔๖๖ อาจารย์เจริญใจได้เข้าประกวดปี่พาทย์ ณ วังบางขุมพรหม ขณะที่มีอายุได้ ๘ ปี และเป็นนักร้องที่มีอายุน้อยที่สุด และผลจากการประกวดนั้นอาจารย์ได้ที่ ๓ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ท่านได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอก ทำหน้าที่ขับร้อง และได้รับพระราชทานเสมาทองคำรัชกาลที่ ๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ท่านได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงของสมเด็จฯพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีหน้าที่ขับร้องและบรรเลงดนตรีของวงมโหรีหลวงในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานเหรียญร.ภ. ในสมเด็จฯพระนางเจ้ารำไพพรรณี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๘ ได้โอนย้ายไปสังกัดสำนักพระราชวัง กรมศิลปากร และโรงเรียนการเรือนพระนคร ตามลำดับ และได้สอนที่โรงเรียนการเรือนพระนคร กับโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงออกจากราชการ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ท่านได้เริ่มเข้าสอนดนตรีไทยที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ.๒๕๐๘ จนถึงปัจจุบัน และเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาทรงศึกษาในระดับปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านก็ได้ถวายการสอนการดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ด้วยในเวลาต่อมา อนึ่งในรัชกาลนี้ท่านได้ประกวดขับร้องเพลงไทยในทางวิทยุกระจายเสียงและได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลที่๑ ในปีพ.ศ.๒๕๑๘ ท่านได้รับเชิญจากกรมศิลปากรให้บันทึกเสียงการขับร้องและ การเดี่ยวซอสามสายพิเศษ ในแบบฉบับของดุริยางคศาสตร์ และในปีพ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับเชิญจากโครงการพัฒนาดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบันทึกการขับร้องเพลงเกร็ดโบราณ และเพลงละครประเภทต่างๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการขับร้องที่มีคุณค่าสมควรอนุรักษ์ และในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการดนตรีไทย จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรี
ผลงานของอาจารย์เจริญใจมีเป็นจำนวนมาก คือ ได้บันทึกเสียงไว้มีทั้งแถบเสียง แผ่นเสียง และแถบวีดีทัศน์ ผลงานการประพันธ์ท่านได้ทำทางร้องสำหรับเพลงพญาสี่เสา(เถา) เพลงสาวสุดสวย (เถา) และเพลงจินตหราวาตรี (เถา) ท่านได้รับพระราชทานบทพระนิพนธ์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีให้บรรจุเพลงขับร้องถวายในฉันท์ดุษฎีสังเวยสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และท่านได้มีโอกาสได้จัดตั้งวงดนตรีไทย ที่สำคัญขึ้น ๒ วง คือ วงเสนาะดุริยางค์และวงเจริญใจ
ในเวลาต่อมาอาจารย์เจริญใจได้ป่วยด้วยอาการของโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้น จึงเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีอาการของโรคชราสืบเนื่องมาเป็นลำดับ และได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ ด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุได้ ๙๔ ปี ๖ เดือน ๒๕ วัน.
(ที่มาประวัติครูเจริญใจ​ สุนทร​วาทิน​ : เวปไซต์​ TK Park music library)​
แผ่น CD ที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงศพ นางเจริญใจ สุนทร​วาทิน (ศิลปินแห่งชาติ)​
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนรรม ผู้จัดทำ.
สำเนาเสียงจากแผ่น CD : ฉ​ั​ต​รกร​ เกตุ​มี
เพื่อการเผยแพร่อนุรักษ์​เพลงไทย​ใน​การศึกษา​ มิได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์และแสวงหารายได้
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : / @deklenkhimchannel7019

Пікірлер: 1

  • @user-hl2nl1lp5q
    @user-hl2nl1lp5q2 ай бұрын

    😊

Келесі