มอญดูดาว : ครูประเวช กุ​มุท​ ขับร้อง ปี่พาทย์มอญ กรมศิลปากร

มอญดูดาว : ครูประเวช กุ​มุท​ ขับร้อง
ปี่พาทย์มอญ กรมศิลปากร
ขับร้อง : ครูประเวช กุ​มุท
ลูกคู่ : ครูสุดา เขียววิจิตร
: ครูทัศนีย์ ขุนทอง
ปี่มอญ : ครูเทียบ คงลายทอง
นักดนตรี​ท่าน​อื่น​ๆ​ : ยัง​ไม่ทราบ​ข้อมูล​แน่ชัด
- ประวัติครูประเวช กุ​มุท​ -​
ครูประเวช กุมุท เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ที่ตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายวง มารดาชื่อนางชุ่ม กุมุท อาชีพทำนา อาชีพรองคือ เล่นดนตรีไทย และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน บิดากับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านรวมวงกันเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่จำความได้ก็ได้ยินและได้เห็นเพลงไทยและวงเครื่องสายกันแล้ว ครูประเวช กุมุท มีนิสัยรักดนตรีมาตั้งแต่อายุยังน้อย
เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ บิดาก็เริ่มหัดให้ตีขิม ตีกลองแขก และหัดขับร้องเพลง เมื่อมีโอกาสก็จะติดตามบิดาไปตามงานดนตรีต่างๆ อยู่ตลอดมา ทำหน้าที่ตีฉิ่งบ้าง ตีกลองบ้าง บิดาได้สอนให้ครูประเวช ขับร้องเพลง ๒ ชั้นง่ายๆ เพลงแรกที่ขับร้องได้ คือเพลงเชื้อ ๒ ชั้น นอกจากนี้ยังมีเพลงจระเข้หางยาว เพลงเขมรพระปทุม เพลงจีนขิมเล็ก นับได้ว่าครูดนตรีคนแรกของท่านก็คือบิดาของท่านเอง
ด้านการศึกษา ครูประเวช กุมุท เริ่มการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดคานหาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เรียนได้ระยะหนึ่ง บิดาได้พาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนดำเนินศึกษา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร จนจบชั้นมัธยม ๑ จึงย้ายไปศึกษาต่อจนจบชั้นสูงสุดที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร) จากนั้น ครูประเวชก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นที่ ๔ พ.ศ.๒๔๘๔ และจบการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ พอดีท่านถูกเกณฑ์ทหาร และประกอบกับมารดาเสียชีวิต ครูประเวชจึงต้องกลับบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้เรียนต่อในระดับปริญญา การศึกษาและความสามารถในด้านวิชาดนตรี ครูประเวช กุมุท ได้ชื่อว่าเป็นคนเรียนดนตรีได้ว่องไว มีความจำและฝีมือดีมาก มาตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมศึกษา มีความสามารถในการขับร้องทั้งเพลงไทยและเพลงพื้นบ้าน โดยช่วยงานดนตรีอาชีพในครอบครัวมาตลอด เมื่อเข้ามาเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากรแล้ว ความสามารถก็เด่นชัดเกินเพื่อนฝูงในรุ่นราวคราวเดียวกัน
ครูประเวช เริ่มเรียนเครื่องสาย เรียนหน้าทับกลอง จังหวะต่างๆ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี สามารถสีซอด้วงซออู้ และตีขิมได้ไพเราะ ความจำเป็นเลิศ เมื่อเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร อายุได้ ๑๔ ปีก็ได้รับการขัดเกลาให้ดียิ่งขึ้น โดยมีครูมี พูลเจริญ และครูโสภณ ซื่อต่อชาติ เป็นผู้สอน
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ก็ได้เรียนชั้นสูงขึ้นอีกกับครูปลั่ง วนเขจร ซึ่งเป็นครูเครื่องสายมือเอกของกรมมหรสพ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เรียนจะเข้กับครูละเมียด จิตตเสวี (นางสนิท บรรเลงการ) จะเข้มือเอกของกรมศิลปากร ที่นับขึ้นไปหาครูได้สูงสำหรับนักดนตรีไทยรุ่นหนุ่มระยะนั้นก็คือ ได้เรียนซอสามสายกับครูอนันต์ ดูรยะชีวิน บุตรชายมือเอกของท่านครูหลวงไพเราะเสียงซอ จนเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ท่านครูหลวงไพเราะเสียงซอจึงได้ยอมสอนให้ตัวต่อตัว จนได้เพลงเดี่ยวนานาชนิด ครูประเวชมิได้หยุดเพียงเท่านั้น แต่ท่านยังได้เรียนปี่พาทย์จนสามารถบรรเลงได้รอบวง จนแม้แต่เครื่องเป่าก็ปฏิบัติได้ นอกจากนั้น ครูประเวชยังมีกระแสเสียงที่ไพเราะ เป็นนักร้อง ขับเสภา อ่านทำนองเสนาะได้ยอดเยี่ยม โดยเป็นศิษย์ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ และครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ ซึ่งทั้ง ๒ ท่านเป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และเป็นนักร้องต้นแบบคนสำคัญของกรมศิลปากรทั้ง ๒ ท่าน
ครั้นเมื่อครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ครูประเวชก็เข้าแทนที่เป็นนักร้องของกรมศิลปากรได้ทันที จนสมัยเมื่อนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ครูประเวชได้ทำหน้าที่เป็นนักร้อง ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงให้แก่กรมศิลปากรมากมายหลายเพลง เป็นแผ่นเสียงอมตะมาจนทุกวันนี้ ครูประเวชเป็นผู้รู้วรรณคดีอย่างเจนจบ นอกจากจะร้องเพลงได้ดีทุกรูปแบบแล้ว ยังสามารถแต่งบทละครได้งดงาม ถูกต้องตามหลังวิชานาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์อีกด้วย และนอกจากการขับร้องและบรรเลงแล้ว ท่านยังสามารถปรับวงดนตรีได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ ครูประเวช กุมุท เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)
ครูประเวชได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเวลา ๐๖.๓๐ น. ของวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ สิริอายุรวม ๗๖ ปี.
(ที่มาประวัติ ครูประเวช กุ​มุท​ : อาจารย์อานันท์​ นาค​คง)​
- มอญดูดาว -
เพลงมอญดูดาว ๒ ชั้นเป็นเพลงเก่าไม่ทราบนามผู้แต่ง ถูกนำไปใช้ในบทบาทต่าง เช่น ใช้ประกอบการแสดงโขนละคร ประกอบการรำพลายชุมพล ใช้เป็นทำนองเพลงประจำมหาวิทยาลัย โดยขุนวิจิตรมาตราได้แต่งเนื้อร้องให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นต้น
เพลงนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขยายทั้งจังหวะ (ขยายจากเพลงมอญดูดาว ๒ ชั้น ซึ่งใช้จังหวะหน้าทับสองไม้หรือหน้าทับมอญ ซึ่งวรรคหนึ่งมี ๔ ห้องเพลง ไปเป็นเพลงที่ใช้จังหวะหน้าทับปรบไก่ซึ่งวรรคหนึ่งมี ๘ ห้องเพลง) และขยายทำนองจาก ๒ ชั้นเป็น ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ให้ชื่อว่าเพลง “ราตรีประดับดาว (เถา)”
- เนื้อร้องเพลงมอญดูดาว -
เนื้อร้องที่ใช้ประกอบรำพลายชุมพลมาจากบทละครเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ
(ที่มาประวัติเพลง : นิพนธ์ นาคพันธ์)
ที่มาภาพถ่าย : อาจารย์อานันท์​ นาค​คง​
อนุเคราะห์​เทป​คาสเซ็ท​ : ผศ.อู่ทอง​ ประศาสน์​วินิจฉัย​ [อดีตอาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (ทับแก้ว)]​
สำเนาเสียงจากเทปคาส​เซ็ท​ : ฉ​ั​ต​รกร​ เกตุ​มี
เพื่อการเผยแพร่อนุรักษ์​เพลงไทย​ใน​การศึกษา​ มิได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์และแสวงหารายได้
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : / @deklenkhimchannel7019

Пікірлер: 7

  • @supraneesomdulyawat3072
    @supraneesomdulyawat30723 жыл бұрын

    ไพเราะค่ะ ขอบคุณครุประเวชร้องเพราะดี

  • @pungngathawon6707
    @pungngathawon6707 Жыл бұрын

    เพราะมาก

  • @user-ls2rv4eh2m
    @user-ls2rv4eh2m3 жыл бұрын

    ขอบันทึกไว้ฟังนะครับ

  • @Iwasbornin_
    @Iwasbornin_3 жыл бұрын

    ในภาพ นึกว่าพระพร ภิรมย์

  • @user-fl3lf3nb4u

    @user-fl3lf3nb4u

    3 жыл бұрын

    ใช่ครับ คุณคิดเหมือนผมเลยครับ

  • @Iwasbornin_

    @Iwasbornin_

    3 жыл бұрын

    @@user-fl3lf3nb4u ก็คนจังหวัดเดียวกันนี่ครับ แต่แค่ต่างกันคนละอำเภอ เอาจริงๆนะ บ้านคานหาม(แต่ก่อนยังไม่เป็นตำบล) อยู่ห่างจากตัวเมืองไปแค่ 10 กว่ากิโลเอง ส่วนตัวอำเภอก็น่าจะค่อนๆไปทาง 20 สมัยผมมาฝึกงานใหม่ๆ จากเกาะอยุธยา ส่วน พระราชวัง ไปวัดหลวงปู่ดู่(ซึ่งตอนนั้นยังไม่ฮิตเท่าไหร่) แค่ประมาณ 14 กิโลเองครับ ไม่ห่างกันมากเท่าไหร่

Келесі