มหัศจรรย์แห่งศูนย์ฯ ภูพานฯ ตอน กระต่ายดำภูพาน

"กระต่ายดำภูพาน" สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน สัตว์เศรษฐกิจสุดเลื่องชื่อของสกลนคร ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย
ด้วยต้องการบรรเทาความทุกข์ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานของพระองค์ในภาคอีสาน พร้อมโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองแนวพระราชดำริต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตร เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง การหาข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และอีกโครงการหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ คือ การเลี้ยงสัตว์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางง่าย ๆ ว่า ต้องแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่ายไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เช่นนั้นหากมีอะไรผิดพลาด เกษตรกรจะกลายเป็นหนี้ จนเป็นที่มาของตำนาน 3 ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน อันประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน, สุกรภูพาน และโคเนื้อภูพาน ดังที่หลาย ๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วนั้น แต่ปัจจุบันนอกเหนือจาก 3 ดำมหัศจรรย์ที่กล่าวไปข้างต้น ทางศูนย์ฯ ได้มีการทดลองเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์เพื่อการบริโภคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3 ชนิด ได้แก่ "กระต่ายดำภูพาน" กระต่ายเพื่อการบริโภคที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากกระต่ายในจังหวัดสกลนคร ร่วมกับกระต่ายอีกหลากหลายสายพันธุ์ "กระบือเมซานี" กระบือผลิตน้ำนมสายพันธุ์พระราชทานที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ "กวางรูซ่า" สัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สามารถนำเขากวางอ่อนมาสกัดผลิตเป็นยามากสรรพคุณ
ซึ่งจุดกำเนิดของ 6 สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น อาทิตย์นี้ขอเชิญทุกท่านติดตามรับชมวิดิทัศน์สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน ตอน กระต่ายภูพาน กันได้เลยครับ
สำหรับกระต่าย หลาย ๆ คนก็คงจะคิดถึงสัตว์ตัวเล็ก ๆ น่ารัก มีขนปุกปุย กินผักกินหญ้าเป็นอาหาร แต่ในความเป็นจริงมุมหนึ่งของสังคมโลก กระต่าย คือ อาหารชนิดหนึ่งของคนมาตั้งแต่บรรพกาลแล้ว เนื่องจากเนื้อกระต่ายมีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม ขาวคล้าย ๆ เนื้อไก่ มีโปรตีนสูง ประเทศไทยมีกระต่ายสายพันธุ์ท้องถิ่นหลายสายพันธุ์ ลักษณะเด่นของกระต่ายสายพันธุ์ไทย ขนจะสั้น มีหลากหลายสี ว่องไว ปราดเปรียว หูยาว หน้าแหลม เลี้ยงลูกเก่ง ตกลูกปีละประมาณ 6 - 8 ครอก โดยเฉลี่ยครอกละ 5-10 ตัว ทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี กระต่ายไทยมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง สามารถกระโดดได้สูงเกิน 1 เมตร ตัวโตเต็มที่น้ำหนักจะอยู่ประมาณ 1-2 กิโลกรัม
นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สร้างแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพ ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ให้เด็กนักเรียนและประชาชน ศูนย์ฯ ภูพานฯ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนากระต่ายเนื้อขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร มีอาชีพ มีรายได้ นอกเหนือจากการทำนา เลี้ยงสัตว์
สำหรับหลักของการพัฒนา ได้นำกระต่ายพันธุ์ไทยเพศเมีย นำมาผสมกับพ่อพันธุ์กระต่ายยักษ์จากฝรั่งเศส ที่มีรูปร่างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 7-8 กิโลกรัม เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์กระต่ายพันธุ์ไทย พัฒนาให้มีโครงสร้างใหญ่ขึ้น แต่ยังคงความแข็งแรง เลี้ยงง่าย ทนต่อทุกสภาพอากาศได้ดี คุณภาพเนื้อมีรสชาติดีไม่มีกลิ่นสาบ อาหารที่ใช้เลี้ยงต้องหาง่าย เกษตรกรไม่เสี่ยงขาดทุน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กระต่ายมีความน่ารัก จึงเกิดกระแสคัดค้านที่จะนำมาเลี้ยงขายเป็นเนื้อสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสดราม่าตามมา จึงให้เด็กนักเรียนที่แวะเวียนมาดูงานที่ศูนย์ฯ หลายกลุ่มเลือกกระต่ายที่ตัวเองชอบมาอุ้ม ผลปรากฏว่า เด็กเลือกอุ้มกระต่ายทุกสี ยกเว้นแต่เพียงกระต่ายสีดำ ไม่มีเด็กคนไหนอุ้ม จึงสรุปว่า ถ้าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงกระต่ายขายเป็นเนื้อสัตว์ ต้องปรับปรุงพันธุ์กระต่ายให้ออกมามีขนสีดำเท่านั้น จึงออกมาเป็นผลสำเร็จ เรียกชื่อใหม่ว่า "กระต่ายดำภูพาน"
ดังนั้น ศูนย์ฯ ได้พัฒนาจากพันธุ์เยอรมันไจแอนท์ จนได้กระต่ายลูกผสม F4 คือ ได้กระต่ายรุ่นลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนัก 4.5 กก. จากปกติกระต่ายพื้นเมืองจะหนักตัวละไม่เกิน 1-2 กก. เท่านั้น อายุ 1 เดือนสามารถขายได้ตัวละ 250 บาท เมื่อมีการชำแหละแล้วจะมีการขายอยู่ที่ กก.ละ 200-300 บาท กระต่ายดำเนื้อภูพาน ยังมีคุณภาพเนื้อโปรตีนสูง ไขมันต่ำ มัดกล้ามเนื้อขนาดเล็ก ย่อยง่าย เหมาะกับกลุ่มคนรักสุขภาพ นักเพาะกาย และกลุ่มผู้สูงวัยมีปัญหาเรื่องระบบการย่อย
ขณะนี้ กระต่ายดำภูพาน พร้อมส่งเสริมให้ชาวบ้าน จ.สกลนคร นำไปต่อยอด เลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ รายได้แล้ว โดยผู้ที่สนใจสายพันธุ์กระต่าย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-4274-7458 ต่อ 602 งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ไทยรัฐ ออนไลน์

Пікірлер

    Келесі