คิริมานนทสูตร พระยาธรรมิกราช

"พระยาธรรมิกสูตร เพราะเป็นใหญ่กว่าธรรมทั้งหลาย"..พระสูตรที่ใช้ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ อธิบายถึงพระนิพพาน ความไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ของสังขาร เสียงอ่านหนังสือ คิริมานนทสูตร โดย คุณ อำรุง เกาไศยานนท์
~สมัยหนึ่ง ! พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์ เสด็จไปเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า "พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ อานนท์ ! ถ้าเธอเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่คิริมานนท์ภิกษุ เป็นไปได้ที่การอาพาธของคิริมานนท์ภิกษุ จะสงบระงับโดยฉับพลันเพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ สัญญา ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อนิจจสัญญา ๒. อนัตตสัญญา ๓. อสุภสัญญา ๔. อาทีนวสัญญา ๕. ปหานสัญญา ๖. วิราคสัญญา ๗. นิโรธสัญญา ๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๙. สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑๐. อานาปานสติ
#อนิจจสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา
#อนัตตสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า ตาเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา*ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายในและภายนอก ๖ ประการนี้ อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา
อสุภสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายนี้เท่านั้น ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่าในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดีเสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ’ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา
อาทีนวสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคท้อง โรคลมสลบ โรคลงแดง โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคหูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนเป็นเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสลดเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่เกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธที่เกิดแต่การบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ อาพาธที่เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธที่เกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ’เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา
ปหานสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เรียกว่า ปหานสัญญา
วิราคสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า‘ ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด นิพพาน ’ นี้เรียกว่า วิราคสัญญา
นิโรธสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า‘ ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ นิพพาน ’ นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่นและเป็นอนุสัยแห่งจิต งดเว้น ไม่ถือมั่น นี้เรียกว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจในสังขารทั้งปวง นี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา
อานาปานสติ เป็นอย่างไร ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออกในอานาปานสติ ๑๖ ขั้น
ถ้าเธอจะพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้ แก่คิริมานนท์ภิกษุ เป็นไปได้ที่อาพาธของคิริมานนท์ภิกษุนั้น จะระงับไปโดยฉับพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ”
ครั้งนั้นแล ! ท่านพระอานนท์ ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ถึงที่อยู่ กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่ท่านพระคิริมานนท์ ขณะนั้นเอง อาพาธของท่านพระคิริมานนท์ สงบระงับลงโดยฉับพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ที่มา...พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ฉบับ มจร.
#คิริมานนทสูตร #พระยาธรรมิกราช

Пікірлер

    Келесі